ซิปที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ถึงจะชิ้นเล็กๆ แต่ส่วนประกอบของมันมีหลายส่วนมากมาย ต่อจากเรื่อง รูปแบบต่างๆของซิป แล้ววันนี้โทริจะมาเล่าให้คุณฟังว่า ในซิปนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง มาดูกันเลย
ส่วนประกอบตามรูปภาพด้านบน
1. ตัวหยุดซิปบน(top stop)
-เป็นโลหะที่นำมางับลงไปในเนื้อผ้าเพื่อใช้ในการหยุดการไหลของหัวซิป หัวซิปจะได้ไม่หลุดจากรางเมื่อรูดสุดปลาย วัสดุที่ใช้จะต่างกันไปในแต่ละรูปแบบของซิปที่ใช้
2. หัวซิป(slider)
-เป็นอุปกรณ์หลักอันดับสองของซิป เพราะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่รูดให้ซิปติดกัน หรือแยกกันออก ตัววัสดุที่ใช้ทำหัวซิปมีหลายแบบ เช่น ทองเหลือง พลาสติก อลูมิเนียม สังกะสี เป็นต้น และยังมีด้วยกันหลายระบบ โดยจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
3. ป้ายซิป(puller)
-เป็นส่วนที่ติดกับหัวซิป โดยมีเพื่อให้เราสามารถจับเพื่อดึงให้หัวซิปขยับตามทิศทางที่ต้องการ โดยส่วนมากในแบรนด์ต่างๆ จะมีการดีไซน์ ออกแบบ ป้ายซิปให้มีเอกลักษณ์ต่างกันไปเพื่อสร้างจุดเด่น
4. ฟันซิป(teeth)
-เป็นส่วนประกอบหลักของซิป ฟันซิปเป็นไอเดียหลักในการรูดเปิดเปิด ชื่อฟันซิปมาจากลักษณะที่มีส่วนเป็นเขียวกับหลุมรับกันสองด้าน ฟันซิปก็จะมีวัสดุแตกต่างกันไปในแต่ละรูปแบบซิปเช่นเดียวกัน แต่แรกเริ่มสุดจะทำมาจากโลหะ
5. ผ้าซิป(tape)
-ผ้าซิปทำหน้าที่เป็นตัวประสานฟันซิปกับวัสดุอื่น ผ้าซิปเกิดจากการทอด้ายเส้นเล็กๆจนเป็นผืนขึ้นมา โดยผ้าซิปเราสามารถนำไปย้อมสีได้ตามต้องการ
6. ตัวหยุดซิปล่าง(bottom stop)
-เป็นโลหะทำหน้าที่คล้ายกับตัวหยุดซิปบน แต่จะเน้นความเรียบและความสวยงามมากกว่า เนื่องจากเห็นได้ชัด อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าเพราะต้องทนแรงรูดที่ปลาย
7. ฟิลม์เสริม(reinforce film)
-เป็นส่วนเพิ่มเติมในซิปแบบเปิดท้าย ติดตั้งโดยเครื่องจักรที่ใช้ความร้อนทำปฎิกิริยากับฟิลม์และผ้าซิป หลอมประทับลงไปเพื่อให้ผ้าซิปส่วนท้ายมีความแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ทนต่อการฉีกดึง ด้ายจะไม่หลุด และรอยต่อมีความเรียบร้อย
8. พินประกอบ(insert pin)
-เป็นส่วนเข็มเล็กๆที่ใช้เสียบเข้ากล่องพิน เพื่อทำหน้าที่ล็อคไม่ให้ปลายหลุด การถอดและใส่เข้า ก็จะทำการดึงที่จุดนี้เพื่อปลดล็อคการเปิดท้าย
9. กล่องพิน(retaining box)
-เป็นกล่องที่ใช้คู่กับตัวพินประกอบ ทำหน้าที่เป็นรางหรือเป็นรูกุญแจให้กับพิน ให้เสียบเข้าไปยึดติด
ฟันซิป และ ผ้าซิป
ในซิปแต่ละรูปแบบ ลักษณะของฟันซิปและ ผ้าซิปก็จะแตกต่างกันไป ดังนี้
ซิปโลหะ : ฟันทำจากโลหะ ผ้าซิปเป็นผ้ามาตราฐาน ขนาดฟันและความกว้างของผ้า จะเปลี่ยนไปตามเบอร์ของฟัน
ซิปไนลอน : ฟันของซิปไนลอนทำมาจากเส้นเอ็นมีความยืดหยุด ผ้าที่ใช้ทอสามารถทำแพทเทิร์นได้ ลายทอบนผ้าจะแตกต่างกันในแต่ละโรงงานผลิต ขนาดฟันและความกว้างของผ้า จะเปลี่ยนไปตามเบอร์ของฟัน ที่ใช้หลักๆมีเบอร์ 3 และ 5
ซิปซ่อน : ฟันเป็นแบบเดียวกับซิปไนลอน แต่จะใช้การผลิตลักาณะพิเศษโดยกลับด้านฟันซิปไปด้านหลังแทน ตัวผ้าซิปจะมีขนาดเล็กและบาง เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานที่ต้องการความเรียบเนียน ไม่เป็นที่สังเกตุ
ซิปพลาสติก : ฟันเป็นพลาสติกโดยใช้เครื่องหลอมและฉีดขึ้นรูป ส่วนมากจะมีฟันแบบกระดูกใหญ่และเล็ก ผ้าของซิปพลาสติกจะหนากว่าซิปรูปแบบอื่น
ประเภทของหัวซิป หัวซิปจะมีรูปแบบหลายชนิดขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยแต่ละตัวก็จะมีกลไกพิเศษต่างๆ ไว้โทริจะมาเล่าให้ท่านฟังโอกาสต่อไป หัวซิปที่นิยมใช้กับในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆได้ ดังนี้ 1.หัว NON-LOCK -หัวซิปพื้นฐาน เป็นหัวที่สามารถรูดได้อิสระ ใช้ในอุปกรณ์ทั่วไป กระเป๋า เสื้อผ้า ที่ไม่สนใจการเคลื่อนที่ของซิปเนื่องจากไม่มีส่วนที่กระทบในการรูด หัวชนิดนี้หากมีการดึงให้ซิปแยกออกจากกัน ก็จะไหลได้อย่างอิสระ รูปลื่นง่าย แต่ก็ไหลง่ายเช่นกัน 2.หัว PIN-LOCK -หัวซิปที่มีเขี้ยวสำหรับยึดไม่ให้ซิปไหลหรือรูดซิปได้ จะมีกลไกที่เป็นเขี้ยวติดไว้ใต้ป้ายซิปโดยจะล็อคต่อเมื่อเราผลักป้ายซิปลงไปด้านล่าง ฟันก็จะไปงับผ้า หยุดการคลื่นที่ของหัวไว้ได้ การหยุดซิปไม่ให้ซิปไหลส่วนมากจะพบในอุปกรณ์ที่มีแรงตึงมาก เช่นกางเกง 3.หัวSPRING LOCK -เป็นหัวซิปที่มีการทำงานใกล้เคียงกับ PIN-LOCK แต่กลไกด้านในจะมีระบบสปริงขนาดเล็กในหัวซิปใช้ในการล็อคโดยเฉพาะการใช้งานเหมือนหัว PIN-LOCK คือต้องพับป้ายลงถึงจะเกิดการล็อคขึ้น เนื่องจากเป็นระบบที่ละเอียดอ่อนกว่า ราคาจึงสูงกว่าแบบPIN-LOCK และมีแค่ในหัวซิปโลหะเท่านั้น นิยมใช้กันในซิปกางเกงยีนส์ที่มีความพรีเมียม ข้อดีของหัวซิปนี้อีกอย่างคือ หัวซิปจะมีความแบนมากกว่าหัวแบบ PIN-LOCK 4.หัวAUTO-LOCK -หัวซิปที่มีกลไกพิเศษ ดูเผินๆอาจคล้ายกับหัวNON-LOCK แต่ในระบบ AUTO-LOCK จะมีกลไกสปริงด้านในที่ใช้ในการปลดล็อค ชื่อที่มาของAUTO-LOCKนี้ได้มาจาก การที่หัวซิปนี้จะล็อคไม่ให้ขยับตลอดเวลา จะขยับได้ก็ต่อเมื่อเราดึงป้ายซิปเท่านั้น การดึงจะไปทำให้กลไกสปริงปลดตัวล็อคออกและทำให้รูดได้ปกติ จะเห็นได้ว่าซิป 1 ชิ้นมีองค์ประกอบมากมายเลยทีเดียว และแต่ละส่วนก็มาจากเครื่องจักรไม่เหมือนกัน ท่านสามารถกลับไปรับชม ขั้นตอนการผลิตซิป ประกอบได้ หากท่านมีข้อสงสัยประการใดโทริ ยินดีให้คำปรึกษาท่านตลอด หากท่านใดมีความสนใจในซิปหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทางโทริยินดีให้คำปรึกษาตลอด เพียงติดต่อมาหาเราได้ที่นี่ ติดต่อเรา และท่านสามารถติดตามการอัพเดทข่าวสาร และสิ่งที่น่าสนใจได้ใน facebook ของเรา ตามลิ้งค์นี้ได้เลยค่ะ Torithailand facebook #ส่วนประกอบซิป #ซิป #ชนิดของซิป #ข้อมูลซิป #โทริ #โทริไทยแลนด์ #torithailand #ขายซิป
Opmerkingen